วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การวาดเส้น
                                                                                         

บทที่ 1

ความรู้เบื้องต้นในการวาดเส้น


เส้น เป็นคำที่มีความหมายโดยปกติของการรับรู้อยู่แล้วว่า เป็น วัตถุ สิ่งของ ที่มีลักษณะ ยาว หรือเป็นสาย และมีความชัดเจนขึ้นอีกถ้าไปผสมกับคำใดเข้า เช่น เส้นหมี่ เส้นทางเดินรถ เส้นไหม เส้นเลือด เส้นเชือก ฯลฯ แต่ถ้าในทางการขีดเขียนหรือวาด จะถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ที่จะทำให้เกิดภาพต่างๆขึ้น เพื่อการสร้างสรรค์ ออกแบบผลงานต่างๆ ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือเข้าช่วย ขีด ลาก วาด ได้แก่ ดินสอ ปากกา พู่กัน ฯลฯ โดยมพื้นที่รองรับส่วนใหญ่จะเป็นกระดาษ ขนาดของเส้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของอุปกรณ์นั้นๆ
การเกิดของเส้นถ้ามองอีกมุมหนึ่งในองค์ประกอบของการออกแบบ อาจกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า เส้นคือ จุดที่เคลื่อนที่ และต่อเนื่องบนที่ระนาบหรือบนแผ่นกระดาษ ถ้าเส้นปรากฏเป็นตัวอักษรก็จะเป็นภาษาเขียนของมนุษย์ที่สื่อสารกัน แต่ถ้าเส้นถูกวาดอย่างมีทิศทาง มีความหมายเป็นรูปร่าง ก็จะเกิดเป็นภาพต่างๆ เพื่อสื่อความหมายหรือเพื่อการสร้างสรรค์งาน ก็จะเป็นขบวนการสร้างภาพที่อาศัยทักษะฝีมือ มีความสัมพันธ์กับการคิดที่ต้องใช้ สติปัญญาจะเห็นได้ว่า การวาดเส้น เป็นการถ่ายทอดความคิดออกเป็นรูปภาพที่ทำได้ สะดวก และ รวดเร็ว ส่วนจะได้ความหมาย หรือ เหมือน ถูกต้องมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับทักษะฝีมือของแต่ละคนไป
วาดเส้น เป็นคำผสมซึ่งพอจะแยกความหมายได้เป็น 2 คำ คือ
   1. วาด เป็นการกระทำให้เกิดภาพ โดยใช้มือจับอุปกรณ์ ขีด เขียน ถู ไถ ฯลฯ มากกว่าการเขียนเป็นตัวอักษร หรือข้อความ
   2. เส้น เป็นวัตถุ สิ่งของ หรือ รอย ที่มีลักษณะยาว ถ้าในงานออกแบบ เส้น จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างผลงาน

ธรรมชาติของเส้น
  -มีขนาดต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาใช้ในการลากหรือวาด
  -ตัวมันเองมีเพียงมิติเดียว แต่เมือวาดอย่างมีจุดประสงค์จะทำให้ได้ผลงาน หลายมิติ
  -มีลักษณะของความยาวมากกว่าความหนา

ในที่นี้ขอให้ความหมายของการ วาดเส้น ว่าการที่เราใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ขีด เขียน เป็นภาพ ที่มีความหมายตามที่สมอง หรือ สติปัญญาสั่ง การ โดยมีตาเป็นสื่อรับรู้ของการเกิดภาพนั้นๆ
ผลงานของการวาดเส้น จะให้ความรู้สึกต่างๆมากมาย ตั้งแต่พื้นฐานง่ายๆจนถึงเนื้อหาที่ซับซ้อนจะเห็นได้ว่า การวาดเส้น เป็นพื้นฐานหลักในการถ่ายทอด ความคิด ออกเป็น รูปร่าง รูปภาพ ไม่เพียงแต่ผู้ที่เรียนทางด้านศิลปะ ออกแบบ ผู้สนใจทั่วไป แม้นแต่มนุษย์ยุดโบราณก็ยัง ขีดเขียนเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวต่างๆ บนเพดาน หรือผนังถ้ำ เป็นการแสดงให้เห็นถึง สติปัญญา ความสามารถของทักษะฝีมือ และวิธีการถ่ายทอดที่เป็นคุณสมบัติส่วนหนึ่งของมนุษย์ บางคนอาจวาดเส้นถ่ายทอดได้ดี บางคนอาจมีปัญหา แต่การฝึกฝนอย่างมีหลักการก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดทักษะฝีมือ

ประวัติการวาดเส้น
มนุษย์ได้สร้างสิ่งต่างๆมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และก็สร้างกันต่อไปในอนาคตอย่างไม่หยุดนิ่ง ในยุดแรกของมนุษย์สิ่งที่สร้างก็เพื่อการดำรงชีพ หาอาหาร ต่อสู้กับสัตว์ ภัยธรรมชาติ  และต่อสู้กับระหว่างเผ่าพันธุ์ ทุกอย่างต่อเนื่องปรับเปลี่ยนและมีวิวัฒนาการ บางอย่างก็ทิ้งร่องรอยของผลงานเอาไว้ ให้ศึกษาเป็นข้อมูลเรื่องราวต่างๆ การจะหาคำตอบถึงสาเหตุ และข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ก็คงจะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ยาก แต่ก็มีข้อเท็จจริงบางส่วนตามที่นักโบราณคดีได้ศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานเอาไว้ ซึ้งเป็นวิชาการแขนงเดียวที่ให้คำตอบที่ใกล้เคียงมากที่สุดในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียงลำดับได้ดังนี้
1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (15,000 B.C.) ผลงานของมนุษย์ยุคนี้ที่ปรากฏให้เห็น นอกจากจะให้ข้อมูลที่สำคัญทางโบราณคดียังสะท้อนให้เห็นถึง คุณค่าทางทักษะฝีมือมานานนับหมื่นปี
นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า ผลงานของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการวาดหรือศิลปะ เกิดในบริเวณทวีปริกา แล้วโยกย้ายที่ทำมาหากินไปตามที่ต่างๆ บางกลุ่มขึ้นทางเหนือผ่านทะเลทรายซาฮาร่า ข้ามทะเลเมติเตอร์เรเนียนไปถึงยุโรป เพราะพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ดีจะเป็นที่ยอมรับกันว่า มนุษย์พวกแรกที่ถือว่ามีฝีมือทางช่างศิลป์ คือ พวก โคร-มันยอง (Cro-magnon) มนุษย์พวกนี้รู้จักหลบอากาศหนาวเย็นเข้าอาศัยอยู่ในถ้ำ รู้จักเขียนภาพต่างๆโดยเฉพาะจากประสบการณ์ที่รับรู้มา รู้จักสร้างสรรค์ สร้างและประดิษฐ์สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ใช้สอย และ ล่าสัตว์
ภาพที่ 1.1 ภาพวาดบนผนังในถ้ำ Lascaux ในประเทศฝรั่งเศส
ภาพวาดผนังถ้ำ (Cave painting) ตั้งแต่ยุคหินเก่า สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ภาพวาดผนังถ้ำที่พบมากได้แก่บริเวณ ทางตอนเหนือของสเปญ ถ้ำอัลตามิรา (Altamira) และทางตอนใต้ของ ประเทศฝรั่งเศส ถ้ำลาสโค ( Lascaux )
ภาพที่ 1.2 ตำแหน่งถ้ำ Lascaux ในประเทศฝรั่งเศส และ Altamiraประเทศสเปญ
ลักษณะของ งานวาดเส้นของมนุษย์ยุดนี้พอจะสรุปแนวคิด รูปแบบ และ ทักษะฝีมือได้ดังนี้

1. ผู้ที่วาดหรือผู้สร้าง สันนิฐานว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม หรือ พ่อมดหมอผี ซึ่งเป็นผู้มี   ความสามารถ  ในการถ่ายทอดความคิดประสบการณ์ สร้างความเชื่อ และ สร้างภาพได้สอดคล้อง ลงบนผนังถ้ำได้
2. การสร้างภาพจะวาดเส้นภาพนอกก่อนแล้วใช้สีที่เป็นผงระบายภายหลัง โดยใช้ไขสัตว์  เลือด หรือน้ำผึ้ง ทาบริเวณที่จะระบายก่อน แล้วใช้ผงสีพ่นลงไป บางที่ก็แปรงซึ่งทำจากเปลือกไม้ทุบแตกเป็นเส้น หรือขนนกช่วยทา
3. สีที่ใช้คงหาจากทรัพยากรใกล้เคียง ได้แก่ ดินสีเหลือง สีแดง สีดำ สีดินเทศ
4. รูปที่เขียนบางรูปจะเซาะขอบเป็นร่องก่อน บางรูปก็อาศัยลักษณะสูงต่ำของผนังเป็นส่วนประกอบเข้ากับลักษณะของภาพ เช่น ผนังที่นูนอาจเป็นส่วนท้องของสัตว์
5. ภาพวาดของสัตว์จะแสดงรูปด้านข้างเป็นส่วนมาก มีทั้งตัวเดียว และ เป็นฝูง จะมีภาพของคนปนอยู่น้อย
6. ภาพวาดของสัตว์ จะแสดงขนาด และชนิดของสัตว์ตามความคิดคำนึงไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก และไม่แยกประเภทของสัตว์บก หรือ สัตว์น้ำ
7. เรื่องราวของภาพจะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต การล่าสัตว์ เช่นสัตว์ได้รับบาดเจ็บ ถูกฆ่า ถูกลูกธนู ถ้าเป็นความสมบูรณ์ก็มักแสดงอวัยวะเพศเด่นชัด หรือถ้าต้องการแสดงความเชื่อของความสำนึกบาปก็จะเขียนภาพสัตว์ให้สวยงามกว่าตัวจริง โดยหวังว่าจะได้รับการอภัย เป็นต้น

2. ผลงานวาดเส้นของอียิปต์ (4000-2280 B.C.) เป็นอีกยุกต์หนึ่ง ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เด่นชัด และ มีประวัติความเชื่อแนวทางในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งเป็นชนชาติที่สร้างอารยะธรรมของลุ่มแม่น้ำไนล์ อยู่ทางตอนใต้ของทะเลเมติเตอร์เรเนียน อียิปต์มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แล้วค่อยๆเสื่อมลงต่อมาก็เสียเอกราชให้กับเปอร์เซีย ประมาณ 525 ปี ก่อน ค.ศ.
ชาวอียิปต์ มีความเชื่อซึ่งมีอิทธิพลในการสร้างผลงาน คือ
1.       เชื่อว่าชีวิตในโลกหน้ามีจริง และมีความสำคัญ
2.       เชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วย ร่างกายและวิญญาณ
3.       เชื่อว่าฟาโรห์คือพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ที่ให้ คุณและโทษ
4.   เชื่อว่าการแสดงออกตามมุมมองที่เหมาะสม ให้เข้าใจง่ายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างงานศิลปะ
5.       เชื่อว่า หลักการ กฎเกณฑ์ ทางศิลปะเป็นสิ่งดี ต้องเคารพ
จากความเชื่อดังกล่าว จึงมีผลทำให้ชาวอียิปต์ สร้างผลงานที่มีความคงทนอยู่จนถึงปจัจุบันนี้ เช่น สร้างปิรามิด เป็นผลงานสถาปัตยกรรมปิดตาย ที่มีความแข็งแรง ทนทาน เพื่อรักษาร่างศพของฟาโรห์ไว้ เพื่อจะกลับมามีชีวิตใหม่อีกตามความเชื่อ โดยมีภาพเขียนตามผนังห้องเก็บศพ ห้องประวัติฯ ห้องสมบัติ เป็นภาพช่วยเตือนความทรงจำเมื่อฟื้นคืนร่าง
ภาพที่ 1.3 ภาพวาดเส้นเรื่องราวการออกประพาสทางน้ำของฟาโรห์ (Thebes.XVIII Dynasty )
ผลงานวาดเส้นอียิปต์ จะมีเอกลักษณ์อยู่หลายอย่าง ดังนี้
1.       มีการตัดเส้นรอบนอก วาดรายระเอียดชัดเจน และใช้สีเรียบ
2.       การวาดภาพคนมักจะสลับด้านของหุ่น เพื่อการถ่ายทอดให้ชัดเจน
3.       ภาพของคนจะมีลักษณ์ของรูปร่าง ส่วนหัวและคอเป็นรูปด้านข้าง ตาด้านหน้า บริเวณอกเป็นรูปด้านหน้า ท่อนขาจนถึงเท้าเป็นรูปด้านข้าง
ภาพที่ 1.4 ภาพวาดเส้นจากผนังเกี่ยวกับการถวายสิ่งของ ของ Hapi (Thebes.XVIII Dynasty )
ภาพที่ 1.5 ภาพวาดเส้นจากผนังของ Sennofer (Thebes.XVIII Dynasty )
ภาพที่ 1.6 ภาพวาดเส้นเรื่องราวการเทพเจ้า Nekhbet (Thebes.XVIII Dynasty )
ภาพที่ 1.7 ภาพวาดเส้นเรื่องราวเทพ Isis (Thebes.XIX Dynasty )
ภาพที่ 1.8 ภาพวาดเส้นช่อดอกบัว
ภาพที่ 1.9 ภาพวาดศีรษะ Ramses ที่ 3 ( Thebes.XVIII Dynasty )
3. การวาดเส้นในสมัย กรีก และโรมัน   ถือเป็นมารดาของอารยะธรรมตะวันตกเกือบทุกแขนง  แนวปรัชญาของสำนักต่างๆ มีความเจริญมาก  ทำให้เกิดแนวทาง ทางความคิดมาก และสำนักคิดเหล่านั้นพิจารณาปัญหาเหตุผลต่างกัน  สำหรับทางด้านศิลปะและการวาดเส้นนั้น  ศิลปินกรีกถือกันว่า  เป็นผลของความพยายามของมนุษย์ ที่ถ่ายทอดเลียนแบบธรรมชาติ  (Art is the imitation of nature.)  โดยมุ่งที่จะแสดงให้เห็นในความเชื่อเด่นๆ ของสังคมสองประการ  คือ  ความชัดเจน และความบริสุทธิ์  (Clarity and purity
   รูปคนหรือการถ่ายทอดคน  ถือเป็นรูปแบบอันสำคัญของการวาดเส้น  โดยศิลปินกรีกพยายามที่จะใช้ความสมบรูณ์ และ ความงามของคนเป็นแบบ  ถ่ายทอดเทพเจ้าตามที่คนมีความเชื่อ  เทพเจ้าอะพอลโล ก็ดี  หรือ เทพเจ้าวีนัสก็ดี  ต่างก็ได้แบบอย่างจากเรือนร่างอันสมบรูณ์ของมนุษย์ผู้เต็มใจเป็นหุ่นให้  และแนวคิดที่ยอมเป็นหุ่นนี้ให้อิทธิพลสืบต่อมาจนถึงสมัยฟื้นฟูและในสมัยหลังๆ บ้างเหมือนกัน
   ศิลปินกรีก มีความชำนาญในการถ่ายทอดบนผนังโค้งของไห  ด้วยการออกแบบผสมกับรูปทรงเรขาคณิตเป็นแบบต่างๆ งดงาม  บนพื้นที่จำกัด  และรู้จักใช้น้ำยาเคลือบตกแต่งด้วยสีอิฐ และสีดำ  โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับขนบประเพณีและนักรบ  ศิลปินนอกจากจะแสดงความชัดเจนแล้ว  ยังแฝงจินตนาการของตนเองไว้ในภาพเขียนอีกด้วย  และ ในสมัยหลังๆ จินตนาการมีส่วนให้อิทธิพลต่อการวาดเขียนมาก  จนกลายเป็นการออกแบบตกแต่ง
ภาพที่ 1.10 ไหเครื่องปั้นดินเผาเขียนลาย ของกรีก อายุประมาณ 700-680 ปี ก่อน ค.ศ.
   ในสมัยโรมัน  การวาดเส้นมีบทบาทสำคัญในการวางพื้นฐานของภาพประดับ (mosaic) เพราะช่วยทําให้การแบ่งบริเวณแสงสว่าง และ เงามืดสำหรับสร้างภาพประดับ  การถ่ายทอดการวาดเส้นของโรมันมีทั้งภาพคนอย่างของกรีก และภาพวิว  และภาพโบราณนิยายครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ด้วย  ในช่วงหลังของสมัยโรมันถือว่าการวาดเส้นนั้น  เป็นการถ่ายทอดที่แสดงให้เห็นว่า  ศิลปินมีความเข้าใจเกี่ยวกับความตื้นลึก  ใกล้ไกล  และ ความกลมกลืนของ แสงและเงา อย่างสมบรูณ์  อันนับได้ว่าเป็นวิธีการถ่ายทอดแรกเริ่มของการวาดเส้นที่มีลักษณะสามมิติ  สำหรับลักษณะเด่นของการวาดเส้นในสมัยโรมันนั้น  จะหนีไม่พ้นรูปคน  โดยมีร่างกายสมบรูณ์มีกล้ามเนื้อที่งดงาม  ทั้งนี้เพราะว่าโรมันยกย่องนักรบ และ ชัยชนะ  ดังนั้นเรื่องราวของภาพคนจึงมีความสำคัญมาก

4. การวาดเส้นในสมัยกลาง   เมื่ออาณาจักรโรมันแบ่งงออกเป็นสองส่วน  และ ช่วงเวลานั้นจนถึงสมัยฟื้นฟู  ราวศตวรรษที่  14  เป็นช่วงเวลา ของคริศต์ศาสนา และ ระยะเวลาของการแสวงหาแนวการเขียนระยะนี้แทนที่ลักษณะแบบอย่างของการวาดเส้น ตามแนวกรีก และโรมันที่เกี่ยวกับเทพนิยายจะมีอิทธิพล  ศิลปินในระยะนี้ได้พยายามแสดงเรื่องราวของศาสนา  จนทำให้การวาดเส้นมีลักษณะเด่นไปทางสัญลักษณ์  หรือ เป็นการออกแบบตามแนวสัญลักษณ์มากขึ้น ส่วนในทางตอนเหนือของยุโรปในช่วงเวลานี้  ศิลปินได้สร้างสรรค์ภาพประกอบคัมภีร์ เป็นเรื่องราวของศาสนา  และ มีตัวหนังสือประกอบด้วยทำให้รูปแบบของการวาดเส้นเน้นหนักไปทางการถ่ายทอดภาพประกอบหนังสือ  หรือการลอกแบบเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าบางส่วนจะมีลักษณะของกรีกและโรมันแฝงอยู่บ้างก็ตาม  แต่แนวโน้มส่วนใหญ่มุ่งที่ศาสนา  พยายามที่จะสั่งสอนคนโดยใช้ภาพประกอบเป็นส่วนสำคัญ  และ ระยะนี้การวาดเส้นตัวหนังสือ และการออกแบบตัวหนังสือมีความก้าวหน้ามาก  เช่น  ภาพประกอบคัมถีร์

   สำหรับในสมัยกรีกและโรมัน  ถือได้ว่าเป็นช่วงของการวาดเส้นที่ศิลปินสามารถถ่ายทอดโลกภายนอกอย่างมีเหตุผลขึ้น  รู้จักสร้างภาพให้ลึก  รู้จักใช้แสงและเงา  ซึ่งใช้อิทธิพลต่อมาในสมัยกลาง

5. การวาดเส้นในสมัยฟื้นฟูอีตาลี  (ค.ศ.1300 - ค.ศ.  1600)   การวาดเส้น ส่วนหนึ่งที่เราฝึกฝนปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้ ได้รับอิทธิพล และแนวการถ่ายทอดมาจากการวาดเส้นในสมัยการฟื้นฟูอีตาลียุคนี้  แนวคิดของการวาดเส้น และการฝึกฝนในสมันฟื้นฟูเน้นอยู่ที่ ความสำคัญของการถ่ายทอด  คือ  ถือว่าการถ่ายทอด ด้วยการใช้เส้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับศิลปิน   การวาดเส้นอกจากจะเน้นอยู่ที่ทักษะหรือ ความชำนาญในการบังคับมือ และฝึกสายตาแล้วยังเน้นถึงการพัฒนาความคิด และความรู้สึกด้วย  โดยยอมรับกันว่า  บทบาทของการวาดเส้นเปรียบเสมือนเครื่องมืออุปกรณ์อย่างหนึ่ง ทางปัญญา  ที่จะแสดงให้รู้ว่าผู้เขียนมีความเฉลียวฉลาด  มีความคิด และความสามารถในการแก้ปัญหาระดับไหน  และยังแสดงให้ทราบถึงความคิดในการออกแบบต่างๆด้วย  ซึ่งหมายถึงว่าผู้เรียนวาดเส้นจะต้องฝึกฝนกันเป็นเวลานาน  ตามระบบของการฝึกงานอยู่กับช่างฝีมือโดยตรง
ภาพที่ 1.11 ภาพวาดเส้นของ เลโอนาร์โด ดาวินซี บุคคลที่เป็นยอดทางด้านฝีมือแห่งยุดฟื้นฟูศิลปะวิทยา
         ในปลายศตวรรษที่  15  แนวความคิดของการวาดเส้น ได้เปลี่ยนไป  หลังจากได้รับอิทธิพลจากการก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  โดยศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์  คือ  เลโอนาร์โดดาวินซี (Leonardo da-Vinci) ได้แสดงความคิดเห็นว่า การวาดเส้น เป็นเครื่องมือที่บันทึกความคิดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ในการแสวงหาความจริงจากธรรมชาติ  และ ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ด้วย
        
ในศตวรรษที่  16  ก็ยอมรับทฤษฏีของการวาดเส้น และมีแนวปรัชญาว่า  สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งที่มนุษย์สร้างสรรค์ และไม่สร้างสรรค์  ทั้งที่มองเห็นได้สัมผัสได้   และมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้  ทั้งที่คิดว่ามีวิญญาณ  และ ไม่มีวิญญาณเป็นวัตถุ  ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีทางที่เร้าให้มนุษย์มีความคิด  และ ประกอบความคิดนั้นๆเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงที่เห็นได้ทั้งสิ้น
การวาดเส้นเป็นการสร้างผลงานทางศิลปะทำให้ผู้เรียนแสวงหาความจริงในธรรมชาติที่อยู่ล้ำลึกในวัตถุ  หรือในบุคคล  คือ  หมายถึงว่านอกจากจะศึกษาภายนอกแล้ว  จะต้องเข้าใจความจริงภายในด้วย  ถ้าเป็นวัตถุก็หมายถึงว่าจะต้องเข้าใจโครงสร้างภายใน  ส่วนประกอบของอณู  ถ้าเป็นคนก็ต้องแสดงความรู้สึกจิตใจภายในด้วย  การฝึกฝนโดยมุ่งให้แสวงหาความจริงภายในดังกล่าวนี้  ยังผลให้ศิลปินและช่างทั้งหลายยึดมติของ ไมเคิลแองเจลโล  ที่กล่าว่า  ถ้าท่านจะเป็นช่างปั้นชั้นเยี่ยมแล้ว  ท่านจะต้องมองเห็นรูปคนตามที่ท่านต้องการอยู่ในแท่งหินก่อน
ภาพที่ 1.12 ประติมากรรมหินอ่อนลอยตัว ของ ไมเคิลแองเจลโล บุคคลที่เป็นยอดทางด้านฝีมือแห่งยุดฟื้นฟูอีตาลี
 ( ผู้เขียนที่ the majestic Palazzo Vecchio, Florence , Italy ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2540 )
ในสมันฟื้นฟูมีความเจริญต่างจากยุคที่ผ่านๆมา  มีการศึกษาวิชากายวิภาคกันอย่างจริงจัง  และ ต่อมาได้กลายเป็นรากฐานของ การศึกษาวิชากายวิภาค ทั่วไปตามสถาบันศิลปะ เกือบทั้งโลกตามแนวคิดที่ว่า  ศึกษาจากภายในมาสู่ภายนอก    ในด้านปัญหาของการจัดภาพให้แสดงความรู้สึกตื้นลึก  หรือคุณค่าของสามมิติ  และ บริเวณว่าง  ก็ได้รับความสนใจ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความตื้นลึกที่เรียกกันว่า  วิชาเปอร์สเปคตีฟ (Perspective)  โดยมีการกำหนดข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับการรับรู้ทางด้านสามมิติของมนุษย์ร่วมกันว่า  การเห็นของมนุษย์เกี่ยวข้องกับเส้นระดับตาที่ลากตรงไปจากตาของมนุษย์เอง  ตามตำแหน่งที่ผู้นั้นอยู่  วัตถุใดที่ขนานกับเส้นระดับตาจะมีจุดสายตาเพียงจุดเดียว  ด้านใดที่ขนานกัน  จะไปรวมกันที่จุดสายตาเดียวกัน  และถ้าวัตถุใดตั้งเป็นมุมกับเส้นระดับตาก็จะทำให้เกิดจุดระดับตาสองจุด  และด้านใดขนานกันก็ไปรวมจุดสุดสายตาเดียวกัน  สำหรับด้านและขนาดของวัตถุนั้น  เมื่อปรากฏในสนามภาพ  ถ้าอยู่ใกล้จะมีขนาดใหญ่กว่าอยู่ในตำแหน่งกว่า  และสัดส่วนก็จะลดลงตามส่วน

5. การวาดเส้นในสมัย นีโอคลาสสิค  โรแมนติค และ เรียสลิสซึ่ม  (ค.ศ.  1800 ค.ศ.1860)
ศูนย์กลางของการวาดเส้นเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และเศรษฐกิจ  อิตาลีเป็นศูนย์กลางในสมัยฟื้นฟู  ศตวรรษที่  15  กลุ่มยุโรปตอนเหนือเป็นศูนย์กลางในศตวรรษที่  17  และในศตวรรษที่  19  ฝรั่งเศสได้กลายเป็นแหล่งกลางของศิลปกรรมทุกแขนง  โยเฉพาะอย่างยิ่งปารีส   แนวคิดอันเป็นเสมือนทฤษฏีของนีโอคลาสสิคอีกประการหนึ่งก็คือ  การเน้นการวาดเส้นเป็นหลักสำคัญ  การระบายสีถือเป็นอันดับรอง  ศิลปินกลุ่มนีโอคลาสสิค จะพยายามร่างรูปแบบอย่างแน่นอนด้วยเส้นรอบนอกก่อนแล้วระบายสี  ถ้าเป็นการเขียนรูปคนก็นิยมท่าทางคนยืน  โดยน้ำหนักอยู่บนเท้าขวา  เท้าซ้าย  งออยู่ในท่าพัก  ซึ่งถือกันว่าเป็นถ้าที่สมบูรณ์และงดงามมากที่สุด
ศิลปินกลุ่มโรแมนติคยึดมั่นในอารมณ์ที่แสดงออกรุนแรง  ด้วยการตัดกันของ แสงและเงา  การใช้วัสดุหลายชนิดปนกัน  บางภาพแสดงความรู้สึกของหุ่นมโนภาพ  ความทารุณโหดร้าย และความรู้สึกต่างๆที่เกินความจริง  ซึ่งตรงข้ามกับ นีโอคลาสสิค  ซึ่งยึดมั่นในกฏเกณฑ์ ของกรีกโบราณ
การวาดเส้นในตอนกลางศตวรรษที่  19  หลังจากโรแมนติคก็คือ  ลัทธิเรียสลิสซึ่ม  ลัทธินี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์  จึงทำให้รูปแบบของการวาดเส้นเหมือนจริง หรือคล้ายจริงมากขึ้น  และ การเขียนตามแนวเหมือนจริงนี้  ช่วยขยายความรู้ด้านต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย  นอกจากนี้การเขียนการ์ตูน และ ภาพล้อก็มีบทบาทมากขึ้นด้วย

ผลงานวาดเส้นของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง และ พัฒนาการไปตามกาลเวลา จากการวาดเส้นตามความคิด ความเชื่อ และอุปกรณ์ที่จำกัด ในยุกต์ที่ฟื้นฟูการวาดเส้นเริ่มเปลี่ยนเป็นแนวของการรับรู้จริงมากขึ้น การสร้างผลงานสร้างสรรค์มีจุดมุ่งหมายของชิ้นงานที่เกิดประโยชน์ต่อ ชุมชน สังคม และพัฒนาประเทศ
ภาพที่ 1.13 ภาพวาดเส้นตัวเมืองของชาวยุโรป ในปี ค.ศ. 164
ภาพที่ 1.14 ภาพวาดเส้นตัวเมืองของชาวยุโรป ในปี ค.ศ. 1642
ภาพที่ 1.15 ภาพวาดเส้นตัวเมืองของชาวยุโรป ในปี ค.ศ. 1642
ภาพที่ 1.16 ภาพวาดเส้นตัวเมืองของชาวยุโรป ในปี ค.ศ. 1642
6. ประวัติการวาดเส้นที่มีคุณค่า และ มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
   เป็นภาพวาดเส้นที่บันทึกเรื่องราว ของ วิถีชีวิต สภาพเมือง สิ่งแวดล้อมฯลฯ ของประเทศไทย ก็คือ ภาพจากจดหมายเหตุของ  มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ตำแหน่งเอกอัคราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ได้เข้ามาครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีซึ่งตรงกับปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนจดหมายเหตุบอกเรื่องราวต่างๆเกี่ยวประเทศไทยไว้มาก รวมทั้งวาดภาพประกอบซึ่งสะท้อนไห้เห็นถึง คุณค่าของการวาดเส้นได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 1.17 ภาพวาดแผนที่ประเทศสยาม
ภาพที่ 1.18 ภาพวาดแม่กับลูกชาวสยาม
ภาพที่ 1.19 ภาพวาดเรือยาวที่รับส่งคณะทูต และ เรือยาวพระที่นั่งต้นของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม
ภาพที่ 1.20 ภาพวาดภาพขุนนางสยาม
ภาพที่ 1.21 ภาพวาดภาพขุนนางสยาม
ภาพที่ 1.22 ภาพวาดท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงสยาม
ความสำคัญของการวาดเส้นในงานออกแบบ
  การออกแบบ จะเป็นขบวนการที่สำคัญมากเกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่มีการสร้างชิ้นงาน หรือ ผลงานที่หวังสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจ การพัฒนาเมือง การทำงานสิ่งพิมพ์ การทำงานโฆษณา การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การทำบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า การออกแบบสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และ ชี้นำรูปแบบ การวาดเส้นจึงมีบทบาทที่จำเป็นในการสร้างภาพ หรืรูปร่างเบื้องต้น เพื่อถ่ายทอดจากความคิด ออกมาให้ปรากฏมากที่สุด เพื่อจะได้ เลือก ดัดแลง ก่อนนำไปเขียนเป็นรายระเอียดถูกต้องหรือสร้างจริง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผิดพลาด โดยเฉพาะธุรกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันทุกรูปแบบ
การวาดเส้น มีบทบาทต่องานออกแบบเกือบทุกแขนงซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้
1.       การวาดเส้นเป็นตัวช่วยในการถ่ายทอดความคิดของนักออกแบบ
2.       การวาดเส้นทำไห้เห็นลักษณะของผลงานได้ทั้ง 2 มิติ และ ให้ความรู้สึก 3 มิติ
3.       การวาดเส้นสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ง่าย และใช้อุปกรณ์เขียนพื้นฐานทั่วไป
4.       การวาดเส้นช่วยในการเลือก ดัดแปลง ชิ้นงาน เป็นการกลั่นกรองที่ดีก่อนการสร้างจริงในเชิงธุรกิจเป็น การประหยัด เวลา ต้นทุน และ ที่สำคัญได้ผลงานที่ดี
5.       การวาดเส้น เป็นตัวช่วยบอกรายะเอียดต่างๆ ทั้งที่เรียบง่าย และ ซับซ้อนได้ในมุมมองของงานออกแบบ
6.       การวาดเส้น สามารถถ่ายทอดจิตนาการทุกแนวความคิดทั้งที่ใกล้ตัว หรือ อนาคตได้ไม่มีขอบเขตจำกัด มีความเท่าทันกับการสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ
ภาพที่ 1.23 ภาพวาดเส้นในโลกแห่งจิตนาการ
การวาดเส้นช่วยถ่ายทอดสภาพเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ในสภาวะที่ไม่มีอุปกรณ์ที่ช่วยในการบันทึกภาพ และ สามรถให้ความรู้สึกตามเหตุการณ์นั้นๆ พร้อมกับคุณค่าทางทักษะฝีมือ
ภาพที่ 1.24 ภาพวาดเส้นนครวัด ของ Henri Mouhot. ชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1860
ภาพที่ 1.25 ภาพวาดเส้นนครวัด ของ Henri Mouhot. ชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1860
จะเห็นได้ว่าความสามารถ หรือ ฝีมือในการวาดเส้น มีความสำคัญที่จะต้องเทียมทัน และ สัมพันธ์กับ สติปัญญาที่คิดสร้างสรรค์ การวาดเส้นในงานออกแบบจึงต้องได้รับ การฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญ แม่นยำ ชัดเจน รวดเร็ว ซึ่งจะแตกต่างการวาดเขียน หรือ วาดเส้นธรรมดาทั่วไป

เครื่องมือและอุปกรณ์ในการวาดเส้น
1. ดินสอ
ดินสอ เป็นเครื่องมือพื้นฐาน และ จัดหาง่ายที่สุดในการใช้เขียนหนังสือและงานวาดเส้น ดินสอที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีให้เลือกสะดวกในการใช้อยู่หลายชนิด ตั้งแต่ที่เป็นไม้หุ้มต้องใช้มีดเหลา หรือ ชนิดที่เปลี่ยนไส้ได้ บางครั้งก็เรียกว่าดินสอกดซึ่งมีหลายประเภท และในแต่ละชนิดของดินสอ ก็แบ่งคุณสมบัติของไส้ดินสอซึ้งทำด้วยแกรไฟต์ (Graphite) เพื่อสะดวกและเหมาะกับการใช้งาน
คุณสมบัติของไส้ดินสอดำ จะเป็น อ่อน-แก่ คือถ้าไส้มีความแข็งจะให้น้ำหนักอ่อน ถ้าไส้อ่อนจะให้น้ำหนักดำเข้ม โดยมีตัวอักษร และ เป็นตัวบอก
                                        
                                           น้ำหนักระดับกลาง
                                                                      
12H-11H-10H-9H-8H -7H-6H-5H-4H-3H-2H-H- HB -B-2B-3B-4B-5B-6B-EE
     กลุ่ม H ตัวเลขยิ่งมากไส้จะแข็ง น้ำหนักจะอ่อน                     กลุ่ม ไส้จะอ่อนแต่จะเมดำขึ้น

โดยทั่วไปในงานวาดเส้นจะใช้ดินสอดำอยู่ที่ ระดับ 2B-4B แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของงานด้วยคุณสมบัติที่ดีของดินสออีกอย่างหนึ่งก็ดือ สามารถทำให้ภาพ อ่อน-แก่ หรือไล่น้ำหนักมือได้เป็นอย่างดีนอกเหนือจากเลือกชนิดจากคุณสมบัติอ่อน-แก่ ตามที่ H-B กำหนดไว้แล้ว

  2. ปากกา
ในงานวาดเส้น ปากกา ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญ และ จัดหาได้ง่าย สะดวกในการใช้เขียนทั่วไป และ งานวาดเส้น ให้ขนาด และ น้ำหนักของเส้นสม่ำเสมอ แต่จะมีข้อเสียเปรียบจากดินสอ ในส่วนที่ไม่สามารถทำให้ภาพ อ่อน-แก่ หรือ ไล่น้ำหนักได้ปากกาก็มีหลายชนิดเช่นกัน ให้คุณภาพ  การใช้งานที่หลากหลาย มีทั้ง ปากกาหมึกแห้ง ปากกาหมึกน้ำ ปากกาหมึกซึม ปากกาหมึกเคมี ปากกาลูกลื่น ปากกาปลายสักหลาด ปากกาเขียนแบบ และ มีขนาดของเส้นต่างๆกัน ในการใช้จึงขึ้นกับรูปแบบและชนิดของงานออกแบบ

3.       มีด หรือ คัตเตอร์
ส่วนใหญ่จะนำมาใช้เหลาดินสอ และ ตัดกระดาษ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ให้ความปลอดภัย ก็จะเป็น คัตเตอร์ มีหลายขนาด ตัวใบตัดสามารถหักเพื่อเปลี่ยนความคมและเลื่อนเก็บได้ มีความสะดวก ในการพกพา ในการเหลาดินสอ บางครั้งอาจใช้เครื่องเหลาแบบหมุนตั้งโต๊ะ ซึงก็ให้ความสะดวก แต่การใช้คัตเตอร์ นอกจากสะดวกพกพา ยังสามารถเหลาให้ได้ความยาวของไส้ได้ตามต้องการ

1.       ยางลบ
ยางลบ เป็น ตัวช่วยแก้ไขในส่วนที่ผิด ช่วยในการตกแต่งภาพบางส่วน และ ช่วยทำความสะอาดพื้นของชิ้นงาน โดยเฉพาะงานที่ใช้ดินสอดำทั่วไป ยางลบที่ใช้มีหลายคุณภาพ ควรเลือกใช้ที่มีเนื้อยางนุ่มจะทำให้เนื้อหรือผิวของกระดาษไม่เสียหาย
2. กระดาษ
กระดาษเป็นวัสดุ ที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปรากฏภาพ หรือผลงาน ในการวาดเส้นอาจใช้ได้หลายชนิดซึงมีให้เลือกมาก ก็ขึ้นอยู่กันรูปแบบของงาน โดยทั่วไป กระดาษ ในการทำงานวาดภาพ จะใช้การดาษวาดเขียน ที่มีขนาดเรียกเป็น ปอนด์ ที่เหมาะสมทั่วไปจะอยู่ในระดับ 60-80 ปอนด์ และใช้ด้านที่มีผิวเรียบ ถ้าเป็นการวาดภาพที่ใช้ถ่านชาร์โคลในการวาดภาพ กระดาษที่ใช้มักนิยมกระดาษปรู๊ฟ เพราะผิวของกระดาษจะจับเนื้อถ่านสีดำได้ดีและราคาไม่สูง เหมาะกับการนำมาเขียนที่ใช้ความเร็ว ไม่ต้องการรายละเอียดมากนัก

3.       ไม้บรรทัด
จัดเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ที่ช่วยให้การลากเส้นได้แนวตรง มีทั้งที่เป็นพลาสติก และ โลหะ ใช้ วัดบอกระยะ ทั้งที่เป็น เซนติเมตร และ นิ้ว นอกจากนี้ก็ช่วยเป็นเครื่องมือ ทาบแนวในการตัดกระดาษ

4.       พู่กัน-แปรง
เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างยากในการวาดเส้น ยกเว้นในกรณีที่ต้องให้รูปแบบของงาน มีลีลาของ   เส้นที่สวยงาม ไม่นิยมใช้วาดหรือเขียนเส้นร่าง แต่อาจนำมาช่วยในการระบายส่วนพื้น ซึ่งทำให้เกิดความรวดเร็วพู่กัน และ แปรง จะมีหลายขนาด หลายชนิด และ หลายคุณภาพ ส่วนใหญ่คุณภาพจะอยู่ที่ขนแปรง ซึ่งเป็นตัวอุ้มน้ำสีเอาไว้ แล้วจึงระบายลงบนกระดาษ โดยที่ขนแปรงไม่แตก มีความอ่อนนุ่มเกาะกลุ่ม และ สปริงตัวได้ ไม่แข็งแตกกระจาย

5.       สี
ในการวดเส้นจะไม่เน้นมากนัก แต่ก็นำมาใช้ในลักษณะ ของการระบายพื้น เพื่อเน้นลักษณะของเส้นให้เด่น หรือ ชัดเจนยิ่งขึ้น เครื่องมือที่ใช้คู่สีก็เป็น พู่กัน ซึ่งมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ สีที่ใช้ก็มีทั้งสีน้ำหลอดทั่วไป หมึกดำ หรือ ที่เรียกว่า หมึกอินเดียอิงค์ ในกรณีที่ชิ้นงานเป็นรูปวาดเส้นขาว-ดำ

6.       จานผสมสี
มีทั้งจานสำเร็จรูป พลาสติก ที่มีหลุมหลายหลุม จนถึงจานที่เป็น CERAMIC สีขาว เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้งานเกี่ยวกับการระบายสีสะดวก ในการใส่สี ผสมสี หรือทำให้สีเจือจาง เพื่อได้น้ำหนักอ่อน- แก่ ควรเลือกใช้ที่เป็นสีขาว
7.       แผ่นกระดานรอง
แผ่นกระดานรอง ส่วนใหญ่จะใช้ไม้กระดานอัด หรือกระดาษ 4 มม. เพราะจะมีน้ำหนักเบา พื้นเรียบ สามารถใช้งานได้ดีโดยเฉพาะนำออกนอกพื้นที่ อุปกณ์ที่ควบคู่กับแผ่นกระดานรอง อีกอย่างก็คือ ตัวหนีบ กระดาษเทปกาว ซึ่งเป็นตัวช่วยจับยึดกระดาษ

นอกจาก วัสดุอุปกรณ์หลักดั่งกล่าว ในการวาดเส้นในงานออกแบบ ก็มีอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมอื่นอีกเช่น วงเวียน กระดาษทิชชู ตัวหนีบ มัสซิ่งเทป กระเป๋าใส่ผลงาน แผ่นรองตัด โต๊ะ เก้าอี้นั่งทำงาน ฯลฯ
คุณภาพของ วัสดุ-อุปกรณ์ มีส่วนสำคัญในการสร้างผลงาน เพราะจะทำให้ผลงาน เรียบร้อย ดูดี และ ทำได้สะดวกรวดเร็ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามทักษะฝีมือของผู้วาดเส้น จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในการวาดเส้น ดังนั้น เครื่องมือดี ฝีมือดี จึงจะได้ผลงานที่ดี และ มีคุณภาพ

สรุป
วาดเส้น ก็เป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ขีด เขียน เป็นภาพ ที่มีความหมายตามที่สมอง หรือ สติปัญญาสั่งการ โดยมีตา เป็นสื่อรับรู้ของการเกิดภาพนั้นๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคหินเก่า สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ยุคนั้น ให้คุณค่าทั้งทางโบราณคดี และคุณค่าทางทักษะฝีมือ การวาดเส้น มีบทบาทต่องานออกแบบเกือบทุกแขนง เป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ ซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็ว ง่าย และใช้อุปกรณ์เขียนพื้นฐานทั่วไป แต่ทั่งนี้ก็ต้องขึ้นกับความสามารถ ทางทักษะฝีมือของผู้วาดเส้น ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในการวาดเส้น เพื่อให้ได้ผลงานตามจุดมุ่งหมาย